Long Covid I อวัยวะที่เสียหายหลังจากติดโควิด

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติที่อวัยวะภายในร่างกาย เนื่องจากเชื้อมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดการอักเสบหรือเสียหายที่อวัยวะส่วนนั้น ๆ

อาการทางปอด

ภาวะพังผืดที่ปอด → ผู้ป่วยปอดติดเชื้อบางรายอาจเกิดการอักเสบรุนแรงจนทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย กลไกร่างกายเมื่อเนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บหรืออักเสบ ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่เพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย อย่างไรก็ตาม ร่างกายอาจสร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่มากกว่าเดิมเกิดเป็นพังผืดที่ปอดนั่นเอง

เมื่อปอดมีเนื้อเยื่อที่หนาเกินไปทำให้ปอดทำงานหนักขึ้นเพราะไม่สามารถหมุนเวียนออกซิเจนได้อย่างเหมาะสม

อาการนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 รุนแรงด้วยอัตราความเป็นไปได้ถึง 71%

ภาวะพังผืดที่ปอดทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย และไอแห้งแบบเรื้อรัง

รายการตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง

Chest X-ray ฉายรังสีทรวงอก

————————————————–

อาการทางหลอดเลือด

ลิ่มเลือดอุดตัน → ผลงานของการศึกษาผู้ที่เคยหายจากการติดเชื้อ COVID-19 จากการระบาดระลอกแรกจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน (ศึกษาในช่วงกุมภาพันธ์ 2020 – พฤษภาคม 2021) พบว่ามีความเสี่ยงภาวะเลือดออกในร่างกายและลิ่มเลือดอุดตันตั้งแต่ 2-6 เดือน

อาการหลอดเลือดอุดตันที่พบมี 3 แบบคือ

1. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis–DVT)

2. โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด มีโอกาสเกิดขึ้นในระยะ 6 เดือน

3. เลือดออกภายในร่างกายในระยะ 2 เดือน

การตรวจภาวะลิ่มเลือดสามารถตรวจได้ด้วยเทส D-dimer โดยจะประเมินการแข็งตัวของเลือดที่อาจอุดตันเส้นเลือดบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

เปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ในผู้ป่วย COVID-19 4:10,000 คน เทียบคนทั่วไปที่เกิดภาวะ 1:10,000

เปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ในผู้ป่วย COVID-19 17:10,000 คน เทียบคนทั่วไป ที่เกิดภาวะน้อยกว่าเท่ากับ 1:10,000

เปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ในผู้ป่วย COVID-19 10:10,000 คน เทียบกับคนทั่วไปที่เกิดภาวะ 4:10,000

นอกจากนี้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกและลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดยังสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าพบความเสี่ยงในผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ โดยความเสี่ยงของผู้ป่วยในการะบาดระลอกแรกสูงกว่าระลอกที่สองและสาม นักวิจัยคาดว่าเป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่ลดความรุนแรงของการป่วย

รายการตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง

D – Dimer การแข็งตัวและการสลายตัวของลิ่มเลือดบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

อาการทางหัวใจ

ผู้ป่วยโรคหัวใจมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ COVID-19 เพราะร่ายกายจะบอบช้ำจากการสู้รบกันกับเชื้อ กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจจะได้รับผลกระทบจากภูมิต้านทานของร่างกายหรือแม้แต่ถูกโจมตีจากไวรัสเองก็ตาม อาการที่อาจพบคือ ภาวะใจสั่น เหนื่อยเพลีย การทำงานระบบประสาทส่วนควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาและกล้ามเนื้อลาย เห็นภาพซ้อน เจ็บหน้าแก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

รายการตรวจที่เกี่ยวข้อง
Troponin I – high sensitivity ตรวจโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อหัวใจที่มีความจำเพาะต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ

อาการทางสมองและระบบประสาท

ในผู้ป่วยวิกฤต ICU หรือมีอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อ COVID-19 อาจส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท การมีไข้สูงหรือมีระดับออกซิเจนต่ำทำให้ระบบอวัยวะร่างกายล้มเหลวหรือทำงานไม่สมบูรณ์ ในกรณีนี้อาจทำให้สมองทำงานผิดปกติได้

การที่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานหนักในการต่อสู้กับไวรัสส่งผลให้ระบบประสาทหรือสมองเกิดการอักเสบที่มากกว่าปกติ มีผลให้เกิดอาการตีบหรือตันของเส้นเลือดและทำลายสมองหรือระบบประสาทได้ เมื่อผู้ป่วยหายแล้วอาจยังหลงเหลืออาการเหล่านี้อยู่เนื่องจากร่างกายฟื้นฟูยังไม่สมบูรณ์ อาการที่พบได้คือ:

– ปวดศีรษะ
– มึนงงสับสน
– มีอาการซึม
– มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย หรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง
– หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด
– ไม่ได้กลิ่น รับรสไม่ได้
– มีปัญหาเรื่องความจำ เช่น ลืมวิธีการใช้โทรศัพท์ จำรหัสผ่านโทรศัพท์ไม่ได้ เป็นต้น

หากท่านใดเคยติดเชื้อและมีอาการดังกล่าวชัดเจน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์สุขภาพแคร์แมท, BMJ Learning โรงพยาบาลนครธน

Message us